บทนำการออกแบบอาคารชนิดพิเศษ
ในกระบวนการออกแบบและก่อสร้างอาคาร หนึ่งในปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นคือ ความเข้าใจไม่ตรงกันระหว่างผู้ออกแบบ (สถาปนิก/วิศวกร) และผู้ว่าจ้าง ความคลาดเคลื่อนเหล่านี้อาจนำไปสู่การปรับแก้แบบที่ล่าช้า งบประมาณบานปลาย แบบแปลนอาคารไม่เป็นมาตรฐานขออนุญาตก่อสร้าง หรือแม้กระทั่งการสร้างอาคารที่ไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริง
ตัวอย่างเช่น กรณีของห้อง Shot Blasting ที่กล่าวถึงข้างต้น ผู้ว่าจ้างอาจมองว่าเป็นเพียงห้องขัดผิวโลหะธรรมดา แต่สำหรับผู้ออกแบบ ต้องคำนึงถึงระดับความเสี่ยงต่ออัคคีภัย ระบบระบายอากาศ และการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสม หากไม่มีการสื่อสารที่ดี อาจทำให้เกิดปัญหา เช่น ผู้ออกแบบเน้นความปลอดภัย แต่อาจขัดกับ งบประมาณหรือความคาดหวังของผู้ว่าจ้าง
ลักษณะห้อง Shot Blasting และระดับความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย
ห้อง Shot Blasting เป็นพื้นที่เฉพาะภายในอาคารที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในกระบวนการพ่นขัดผิวโลหะ โดยใช้แรงดันสูงในการยิงเม็ดขัด (Abrasive Blasting) ไปยังพื้นผิวของชิ้นงาน เพื่อลบคราบสกปรก สนิม หรือสีเก่า ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเคลือบหรือพ่นสี กระบวนการนี้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมบำรุงโลหะ เช่น ยานยนต์ โครงสร้างเหล็ก และอุตสาหกรรมการต่อเรือ
จากลักษณะการทำงานของห้อง Shot Blasting ถือเป็นอาคารที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยในระดับปานกลาง ซึ่งหมายถึง สถานที่ที่มีวัตถุไวไฟหรือวัสดุติดไฟได้ แต่มีปริมาณไม่มาก แม้ว่ากระบวนการพ่นขัดจะไม่ได้ใช้เปลวไฟโดยตรง แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างที่อาจเพิ่มความเสี่ยง เช่น
- ฝุ่นโลหะและเศษวัสดุขนาดเล็ก ซึ่งหากสะสมเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดการลุกไหม้หรือการระเบิดของฝุ่น (Dust Explosion) ได้
- สารเคลือบผิวและสารเคมีบางประเภท ที่อาจมีองค์ประกอบไวไฟ หากใช้ร่วมกับกระบวนการพ่นสี
- ระบบระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ อาจทำให้ฝุ่นสะสมในอากาศ และเกิดประกายไฟจากอุปกรณ์ไฟฟ้าหรือแรงกระแทกได้
มาตรการลดความเสี่ยง
เพื่อให้การใช้งานเป็นไปอย่างปลอดภัย ควรมีการติดตั้งระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ ทำความสะอาดพื้นที่เป็นประจำ ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสม และเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ทนไฟ ห้อง Shot Blasting จึงต้องมีการออกแบบที่รัดกุม เพื่อลดโอกาสการเกิดอัคคีภัยและให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยสูงสุด
แหล่งข้อมูลที่ควรศึกษาเพิ่มเติ่ม :
1.กฏกระทรวง มาตรฐานในการบริหาร จัดการ ความปลอดภัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน พ.ศ.2555
2.กฎกระทรวงควบคุมการใช้อาคาร พ.ศ.2535